วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วัดพระธาตุลำปางหลวง

       ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน หรือ บ้านลำปางหลวงในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอนผู้นั้น ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด(ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

       ในทางประวัติศาสตร์นครลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๕ นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร และเกิดความวุ่นวายขึ้น สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองอาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด พม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า ท้าวมหายศเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น หนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอห้างฉัตร) วีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้ทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระยาสุลวะลือไชยสงคราม เจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ น่าน

กู่พระเจ้าล้านทอง วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา ลำปาง
"กู่พระเจ้าล้านทองด้านหน้า วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง"

"กู่พระเจ้าล้านทองด้านหลัง วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง"
รายละเอียด
       กู่พระเจ้าล้านทอง (ศาสตราจารย์ สันติ เล็กสุขุม เรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท) ตั้งอยู่บริเวณท้ายวิหารหลวง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปคือพระเจ้าล้านทอง ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.2019 กู่นี้คงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2106 หลังจากที่เมืองเชียงใหม่ตกอยู่ใต้ปกครองของพม่า ส่วนบนของกู่เป็นแบบผสมระหว่างหลังคาลาดกับหลังคาลดชั้น องค์ประกอบต่างๆ รวมทั้งลวดลายปั้นประดับมีอยู่อย่างมากมาย แสดงให้เห็นถึงแบบแผนของงานประดับในช่วงเวลานั้นด้วย

ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา ลำปาง
"ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง"

"ลายเส้น ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง"
[อุมาพร เสริฐพรรณึก, การศึกษาประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง, หน้า 53]

"ภาพตัดแสดงตำแหน่งที่ตั้ง สำคัญบนเนวัดพระธาตุลำปางหลวง"(1.พระธาตุเจดีย์ 2.วิหารหลวง 3.กู่พระเจ้าล้านทอง 4.ประตูโขง) [อุมาพร เสริฐพรรณึก, การศึกษาประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง, หน้า 45]
รายละเอียด
       ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่บนเนิน มีความสูงประมาณ 13 เมตร โดยมีบันไดนาคทอดยาวเชื่อมพื้นที่ระหว่างวัดกับภายนอก ลักษณะเป็นอาคารทรงมณฑปมียอดแหลมซ้อนหลายชั้น โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ภายนอกฉาบด้วยปูนสีขาวแต่งลายปูนปั้นเกือบตลอด ทำเป็นช่องทางเดินด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก ปากช่องทางเดินประดับซุ้มโค้งซ้อน 2 ชั้น

สิงห์ปูนปั้น ฐานชุกชี วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
"สิงห์ปูนปั้นประดับฐานชุกชี วิหารน้ำแต้มด้านขวา" [ถ่ายเมื่อ 5 มิถุนา 47]

"สิงห์ปูนปั้นประดับฐานชุกชี วิหารน้ำแต้มด้านซ้าย" [ถ่ายเมื่อ 5 มิถุนา 47]
รายละเอียด
       ทั้งสองเป็นลวดลายปูนปั้นนูนสูง บริเวณตัวสิงห์ปั้นจนเกือบเป็นรูปปฏิมากรรมลอยตัว บนหลังสิงห์เป็นหม้อบูรณฆฏะ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ตำแหน่งอยู่บริเวณฐานชุกชีด้านหลังวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง 

ที่มา  http://www.lampang.go.th/travel/weblp/page/page1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น